การขอทำหนังสือเดินทางไทย

การขอทำหนังสือเดินทางไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 ก.ค. 2566

| 2,980 view

การขอทำหนังสือเดินทางไทย

 

การทำหนังสือเดินทางธรรมดาเล่มใหม่

(1) กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มแล้วยื่นต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ

(2) จะต้องมาติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วยตนเองเท่านั้น กรณีบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุไม่ถึง 20 ปี) ผู้ปกครองจะต้องมาด้วย

(3) ใช้เวลา 3 สัปดาห์โดยประมาณ ถึงจะได้รับเล่มที่ผลิตในประเทศไทย

(4) ค่าธรรมเนียม 130.- ริยาล (รับเฉพาะเงินสด)

(5) รับยื่นเอกสาร และถ่ายรูปทุกวันทำการ (อาทิตย์-พฤหัสบดี) เวลา 08.00 - 12.00 น. และ 13.00 - 15.00 น.


เอกสารที่ต้องจัดเตรียม

1. บุคคลที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป

    - บัตรประจำตัวประชาชน 

    - หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน

2. บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี (บิดาและมารดาต้องไปลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในวันที่ขอทำหนังสือเดินทางด้วย)

    (1) กรณีบิดามารดาจดทะเบียนสมรส

         - หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน

         - บัตรประจำตัวประชาชน

         - สูติบัตรไทย 

         - ทะเบียนสมรสของบิดามารดา 

         - เอกสารประจำตัวของบิดา/มารดา (บัตรประจำตัวประชาชน หรือ หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ) 

    (2) กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส

         - หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน 

         - บัตรประจำตัวประชาชน 

         - สูติบัตรไทย 

         - ใบปกครองบุตร (ป.ค.14) 

         - เอกสารประจำตัวของบิดา/มารดา (บัตรประจำตัวประชาชน หรือ หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ)

   (3) กรณีบิดามารดาได้จดทะเบียนหย่าเเล้ว

         - หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน 

         - บัตรประจำตัวประชาชน หรือทะเบียนบ้าน

         - สูติบัตรไทย

         - ใบหย่าของบิดามารดา 

         - ใบปกครองบุตร (ป.ค.14) หรือ บันทึกการหย่าที่ระบุผู้มีอำนาจในการปกครองบุตร 

         - เอกสารประจำตัวของบิดา/มารดา (บัตรประจำตัวประชาชน หรือ หนังสือเดินทางที่ยังไม่หมดอายุ) 

3. กรณีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี บิดาและมารดาต้องไปลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในวันที่ขอทำหนังสือเดินทาง เว้นแต่เข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

    (1) กรณีบิดาหรือมารดา หรือทั้งบิดาและมารดาไม่สามารถไปลงนามให้ความยินยอมได้

          - กรณีบิดา/มารดาอยู่ที่ประเทศไทย

            ให้บิดา/มารดาจัดทำหนังสือยินยอม โดยต้องไปลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่เขต/อำเภอ/หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น

          - กรณีบิดา/มารดาอยู่ในต่างประเทศ

            ให้บิดา/มารดาจัดทำหนังสือยินยอมที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศที่พำนัก

          - กรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์

            ให้บิดาและมารดาจัดทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นพาผู้เยาว์ไปดำเนินการขอมีหนังสือเดินทางไทย โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และผู้รับมอบอำนาจต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงมาแสดงด้วย

    (2) กรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม : ให้ผู้รับบุตรบุญธรรมเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมแสดงทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมและบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้รับบุตรบุญธรรม

    (3) กรณีบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต : ให้บิดาหรือมารดาที่ยังมีชีวิตมาลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมแสดงใบมรณบัตรของอีกฝ่ายหนึ่ง และบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของผู้ที่ยังมีชีวิต

    (4) กรณีอื่นๆ ที่จะต้องมีคําสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง เช่น

         ก) กรณีทั้งบิดาและมารดาเสียชีวิต ให้ผู้ปกครองที่มีชื่อระบุตามคําสั่งศาลเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมแสดงคําสั่งศาลฯ และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มีอํานาจปกครองตามคําสั่งศาล

         ข) กรณีบิดาหรือมารดาผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติ มิได้จดทะเบียนสมรสและไม่สามารถตามหาอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้ ให้ผู้ปกครองที่มีชื่อระบุตามคําสั่งศาลเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมแสดงคําสั่งศาลฯ และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มีอํานาจปกครองตามคําสั่งศาล

         ค) กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรส แต่บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาโดยตลอดและไม่สามารถติดต่อมารดาได้ ให้ผู้ปกครองที่มีชื่อระบุตามคําสั่งศาลเป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมฯ พร้อมแสดงคําสั่งศาลฯ และบัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้มีอํานาจปกครองตามคําสั่งศาล

 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด

ตุลาคม 2562