วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ต.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
1.1 รายงานสภาวะทางเศรษฐกิจของสำนักงานสถิติแห่งชาติซาอุดีฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ระบุว่า ในไตรมาส 2/2563 อัตราการขยายตัวของ GDP (Real GDP Growth) ของซาอุดีฯ อยู่ที่ -7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ GDP ของซาอุดีฯ หดตัวเนื่องจากการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมน้ำมันของซาอุดีฯ (-5.3%) และสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมน้ำมัน (-8.2%) ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของซาอุดีฯ ในไตรมาส 2/2563 หดตัวทุกสาขา โดยสาขาที่ชะลอตัวมากที่สุด คือ ธุรกิจการค้าปลีก/ค้าส่ง ภัตตาคารและโรงแรม (-18.3%) ธุรกิจขนส่ง การกักเก็บสินค้า และคมนาคม (-16.3%) และธุรกิจการกลั่นน้ำมัน (-14%) ตามลำดับ
ในไตรมาส 2/2563 มูลค่า GDP ของซาอุดีฯ อยู่ที่ 564.2 พันล้านริยาล (ประมาณ 150.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงร้อยละ 23.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยสาขาทางเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนต่อ GDP ของซาอุดีฯ มากที่สุด ได้แก่ การบริการภาครัฐ (24.5%) น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (14.5%) อุตสาหกรรมการผลิต (10.3%) และการค้าปลีก/ค้าส่ง ภัตตาคารอาหารและการโรงแรม (10.3%) ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของซาอุดีฯ ในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 16,115 ริยาล (ประมาณ 4,200 ดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงร้อยละ 25.7 จากช่วงเดียวกันของปี 2562
มูลค่าการส่งออกของซาอุดีฯ ในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 121.4 พันล้านริยาล (ประมาณ 32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงร้อยละ 55.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าของซาอุดีฯ ในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 159 พันล้านริยาล (42.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลงร้อยละ 24.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2562
1.2 เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 กระทรวงการคลังซาอุดีฯ แถลงว่าในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลซาอุดีฯ จะดำเนินนโยบายทางการคลังแบบขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ประมาณ 145 พันล้านริยาล (ประมาณ 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยคาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปี 2564 จะอยู่ที่ 846 พันล้านริยาล (ประมาณ 225.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และรายจ่ายของรัฐบาลอยู่ที่ 990 พันล้านริยาล (ประมาณ 264 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของซาอุดีฯ ในปี 2564 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 ในขณะที่หนี้สาธารณะของซาอุดีฯ ณ สิ้นปี 2563 ประมาณการอยู่ที่ 854 พันล้านริยาล (ประมาณ 227 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.4 ของ GDP ทั้งนี้ สถาบันการเงินต่างวิเคราะห์ว่ากระทรวงการคลังซาอุดีฯ คำนวณงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ระหว่างปี 2563-2566
1.3 ทางการซาอุดีฯ ได้เริ่มแก้ไขระเบียบการบริหารราชการให้หน่วยงานราชการของซาอุดีฯ กว่า 38 แห่งเตรียมความพร้อมที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจภายในระยะเวลา 2 ปี โดยประสานงานกับหน่วยงาน National Center for Privatization เพื่อจัดเตรียมและเสนอแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขององค์กรเพื่อดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งมีกระทรวงสำคัญต่างๆ ที่จัดอยู่ในแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วย เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ น้ำ และการเกษตร กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรมและทรัพยากรเหมืองแร่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกิจการฮัจย์และอุมเราะห์ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
1.4 เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 สื่อมวลชนซาอุดีฯ รายงานข่าวเรื่องการจัดอันดับ Ease of Doing Business ของธนาคารโลก ประจำปี 2563 โดยซาอุดีฯ ได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 62 จากทั้งหมด 190 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ (ไทยอยู่ในอันดับที่ 21) ซึ่งปรับสูงขึ้นจากอันดับที่ 92 ในปี 2562 ทั้งนี้ ปัจจัยความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) ของซาอุดีฯ ได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 38 ซึ่งสะท้อนถึงมาตรการของซาอุดีฯ ที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน/ผู้ประกอบการในการจดทะเบียนก่อตั้งธุรกิจเป็นอย่างดี (ไทยอยู่ในอันดับที่ 47)
รายงานของธนาคารโลกระบุด้วยว่า ประเทศที่มีพัฒนาการในด้าน Ease of Doing Business มากที่สุดในปี 2563 ได้แก่ ซาอุดีฯ จอร์แดน โตโก บาห์เรน ทาจิกิสถาน ปากีสถาน คูเวต จีน อินเดีย และไนจีเรีย
2.1 รายงานด้านตลาดแรงงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติซาอุดีฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ระบุว่า ในไตรมาส 2/2563 อัตราการว่างงานของชาวซาอุดีฯ อยู่ที่ร้อยละ 15.4 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 12.3 ในขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวม (คนซาอุดีฯ และชาวต่างชาติ) ในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ร้อยละ 9 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.6 โดยเป็นผลกระทบจากปัญหา COVID-19
ร้อยละ 63.1 ของคนซาอุดีฯ ที่ว่างงาน มีอายุเฉลี่ย 20-29 ปี โดยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 56.6) ของคนซาอุดีฯ ที่ว่างงานจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน
2.2 ในไตรมาส 2/2563 อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของซาอุดีฯ (labour force participation rate) อยู่ที่ร้อยละ 59.4 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 57.9 โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของซาอุดีฯ สะท้อนถึงจำนวนสตรีซาอุดีฯ ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริบททางสังคมของซาอุดีฯ ที่ผ่อนคลายมากขึ้นและอนุญาตให้สตรีซาอุดีฯ สามารถประกอบอาชีพได้
2.3 ในไตรมาส 2/2563 มีคนซาอุดีฯ และต่างชาติจำนวนรวม 400,000 คน ถูกปลดออกจากการจ้างงานในซาอุดีฯ (คนซาอุดีฯ จำนวน 116,000 คน และคนต่างชาติจำนวน 284,000 คน) ส่งผลให้คงเหลือจำนวนแรงงานในซาอุดีฯ ณ ไตรมาส 2/2563 ทั้งหมด 13.63 ล้านคน (เป็นแรงงานชาวซาอุดีฯ จำนวน 3.17 ล้านคน (ชาย 2.055 ล้านคน และหญิง 1.115 ล้านคน) และแรงงานต่างชาติจำนวน 10.46 ล้านคน)