แผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (พ.ศ. 2564 - 2568) ของซาอุดีฯ กับการแก้ไขปัญหาการว่างงานของคนซาอุดีฯ

แผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (พ.ศ. 2564 - 2568) ของซาอุดีฯ กับการแก้ไขปัญหาการว่างงานของคนซาอุดีฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,335 view

 

แผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (พ.ศ. 2564 - 2568) ของซาอุดีฯ

กับการแก้ไขปัญหาการว่างงานของคนซาอุดีฯ

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 เจ้าชาย Mohammed bin Salman Al-Saud (MbS) มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีฯ ทรงประกาศถ้อยแถลงเห็นชอบต่อแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (พ.ศ. 2564 - 2568) สำหรับการให้กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ (Public Investment Fund – PIF) มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจซาอุดีฯ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของ Vision 2030 ที่เจ้าชาย MbS ทรงเป็นผู้ประกาศเมื่อปี 2559 ในการสร้างความหลากหลายของแหล่งรายได้ของรัฐบาลซาอุดีฯ นอกเหนือจากน้ำมันและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

เจ้าชาย MbS ในฐานะประธานกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ ตรัสว่า กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ จะอัดฉีดเงินลงทุนในเศรษฐกิจท้องถิ่นของซาอุดีฯ กว่า 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (หรือประมาณร้อยละ 5 ของ GDP ซาอุดีฯ) และเพิ่มสินทรัพย์สุทธิของกองทุนฯ ให้มีมูลค่า 1.07 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 รวมทั้งจะสนับสนุนเงินทุนแก่ภาคเอกชนในสาขาอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การผลิตน้ำมันที่กองทุนฯ มีหุ้นส่วน จำนวน 320 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้จะสร้างงานให้แก่คนซาอุดีฯ จำนวน 1.8 ล้านตำแหน่ง ภายในปี 2568

แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญ 13 สาขา ได้แก่ พลังงาน ทรัพยากรน้ำ การคมนาคม อาหาร การผลิต การสื่อสาร วัฒนธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิง เทคโนโลยี การท่องเที่ยว กีฬา การก่อสร้าง สวัสดิการและการศึกษา และสาธารณสุข เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเอกชนซาอุดีฯ สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น (localization) พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ และขยายสินทรัพย์ของกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้ซาอุดีฯ เป็นประเทศที่บุกเบิกอารยธรรมของมนุษย์สมัยใหม่ (pioneer for the new human civilization) ด้วยการมุ่งเน้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการพัฒนาอุตสาหกรรมและตำแหน่งงานในสาขาใหม่    

กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ (PIF) ก่อตั้งเมื่อปี 2514 โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปลงทุน เพื่อแสวงหาผลกำไรในตลาดหลักทรัพย์หรือโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในนามของรัฐบาลซาอุดีฯ ซึ่งปัจจุบันสินทรัพย์สุทธิของกองทุนฯ ดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลซาอุดีฯ เคยตั้งเป้าในการเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนฯ เป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 เพื่อที่จะทำให้กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ เป็นกองทุนฯ ที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดในโลกแทนที่กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของประเทศนอร์เวย์และจีน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ดังกล่าวข้างต้นถือเป็น roadmap ที่จะทำให้ซาอุดีฯ สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

แหล่งที่มาของเงินทุนในกองทุนเพื่อความมั่นคั่งของซาอุดีฯ ประกอบด้วย (1) เงินอัดฉีดจากธนาคารกลางซาอุดีฯ (2) เงินปันผลจากการถือครองหุ้น (3) การจำหน่ายสินทรัพย์ และ (4) การขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และการออกพันธบัตร โดยที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ ได้มีการลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในซาอุดีฯ หลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ Neom (เมืองใหม่ติดกับทะเลแดงและอ่าวอากาบา เชื่อมต่อกับอียิปต์และจอร์แดน) โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลแดง และโครงการเมืองแห่งความบันเทิง Qiddiya ทั้งนี้ กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ เป็นนิติบุคคลรายเดียวที่ถือครองหุ้นของโครงการพัฒนาเมือง Neom ซึ่งเจ้าชาย MbS ทรงดำรงตำแหน่งประธานของกองทุนฯ ดังนั้น การริเริ่มพัฒนาโครงการต่างๆ ในซาอุดีฯ รวมทั้งการจัดสรรเงินลงทุนน่าจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเบ็ดเสร็จของเจ้าชาย MbS ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 เจ้าชาย MbS ได้ทรงเปิดตัวโครงการ “The Line” ที่เมือง Neom โดยประสงค์ให้เป็นเมืองแห่งอนาคตที่ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการดังกล่าวประมาณ 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและจะช่วยสร้างงานให้คนซาอุดีฯ จำนวน 380,000 ตำแหน่ง

สำนักงานสถิติแห่งชาติซาอุดีฯ ระบุว่า ในไตรมาส 3/2563 อัตราการว่างงานของซาอุดีฯ อยู่ที่ร้อยละ 14.9 ลดลงจากไตรมาส 2/2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 15.4 และในไตรมาส 3/2563 ซาอุดีฯ มีผู้มีงานทำทั้งหมดประมาณ 13.46 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 75.8 (หรือประมาณ 10.20 ล้านคน) เป็นชาวต่างชาติ ในขณะที่มีคนซาอุดีฯ ที่มีงานทำเพียงแค่ร้อยละ 24.1 (หรือประมาณ 3.25 ล้านคน ในขณะที่ประชากรที่เป็นชาวซาอุดีฯ มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดในปัจจุบันประมาณ 34 ล้านคน)

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลซาอุดีฯ ก็พยายามลดการจ้างแรงงานต่างชาติ และเพิ่มการจ้างงานคนซาอุดีฯ ภายใต้มาตรการ Saudization เช่น เพิ่มค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บแรงงานต่างชาติ การกำหนดประเภทของงานที่ไม่อนุญาตให้คนต่างชาติทำ ฯลฯ แต่อัตราการว่างงานที่ยังสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลซาอุดีฯ ประกาศแผนยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาโครงการต่างๆ ข้างต้นเพื่อสร้างงานเพิ่มเติมให้แก่คนซาอุดีฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรวัยทำงาน (ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรซาอุดีฯ อยู่ที่ 31.8 ปี) ถึงแม้ว่าอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ สตรีชาวซาอุดีฯ ก็เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามบริบททางสังคมของซาอุดีฯ ที่ผ่อนคลายมากขึ้นและอนุญาตให้สตรีซาอุดีฯ สามารถประกอบอาชีพได้

ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของ COVID-19 น่าจะมีส่วนช่วยทำให้เกิดการจ้างแรงงานชาวซาอุดีฯ เพิ่มมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานต่างชาติที่ถูกปลดเป็นจำนวนมาก ซึ่งในไตรมาส 3/2563 มีแรงงานต่างชาติกว่า 257,000 ราย ที่สิ้นสุดการทำงานในซาอุดีฯ และต้องเดินทางกลับประเทศ แต่ก็น่าจะมีความท้าทายเรื่องการพัฒนาทักษะและคุณภาพของแรงงานซาอุดีฯ จำนวนไม่น้อยที่ไม่คุ้นเคยกับการทำงานมาก่อนด้วยเช่นกัน

     

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด

ณ วันที่ 28 มกราคม 2564