ซาอุดีอาระเบียจัดการประชุม Future Investment Initiative (FII) ครั้งที่ 4

ซาอุดีอาระเบียจัดการประชุม Future Investment Initiative (FII) ครั้งที่ 4

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,578 view

ซาอุดีอาระเบียจัดการประชุม Future Investment Initiative (FII) ครั้งที่ 4

 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย โดยกองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีฯ (Public Investment Fund - PIF) ได้จัดการประชุม Future Investment Initiative (FII) ครั้งที่ 4 ในรูปแบบผสม คือ physical และ teleconference ที่โรงแรม The Ritz-Carlton กรุงริยาด ระหว่างวันที่ 27 - 28 มกราคม 2564 ซึ่งจัดการเสวนาภายใต้หัวข้อ “The Neo-Renaissance” เพื่อสะท้อนถึงบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนจากต่างประเทศลงทะเบียนเข้าร่วมงานดังกล่าวจำนวนกว่า 10,000 คน และมีบุคคลสำคัญที่ได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายพิเศษในลักษณะ physical และทาง teleconference ในงานดังกล่าว อาทิ นาย Matteo Renzi อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี นาย Kevin Rudd อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียและนาย Usain Bolt นักกรีฑาชาวจาเมกา

FII เป็นการประชุมที่รัฐบาลซาอุดีฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยกองทุนความมั่งคั่งของซาอุดีฯ (PIF) เพื่อเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐกับเอกชนจากทั่วโลก โดยเฉพาะในประเด็นแนวโน้มของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการลงทุน ตลอดจนการแสวงหาแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของโลก ซึ่งรูปแบบของการประชุม FII มีลักษณะคล้ายกับการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้นที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และยังมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “Davos in the desert” ทั้งนี้ ซาอุดีฯ จัดการประชุม FII ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2560 และที่ผ่านมา ซาอุดีฯ ใช้เวทีการประชุม FII ในการประกาศแผนการลงทุนในโครงการที่มีมูลค่าสูงของซาอุดีฯ และแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศของซาอุดีฯ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน ซาอุดีฯ ก็ใช้เวที FII ในการแสวงหาสาขาธุรกิจของต่างประเทศที่มีศักยภาพเพื่อนำเงินจากกองทุนความมั่งคั่งของซาอุดีฯ ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลกำไรเป็นรายได้ให้แก่รัฐบาลซาอุดีฯ ด้วยเช่นกัน

ที่ประชุม FII ครั้งที่ 4 ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่มีผลสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนี้

(1) ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดุลอำนาจทางเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงจากประเทศตะวันตกไปสู่ตะวันออก และการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยที่ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจโลกไปสู่ประเทศทางตะวันออกเร็วขึ้น ดังเห็นได้จากการที่เศรษฐกิจของจีนสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ

(2) ประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะเร่งพัฒนาห่วงโซ่อุปทานจากวัตถุดิบท้องถิ่น (localize) มากขึ้นแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงการปรับตัวของแต่ละประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพให้เศรษฐกิจของตนมีความยั่งยืน ซึ่งหลายฝ่ายยังคงต้องติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการค้าระหว่างประเทศในอนาคต

(3) การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดการพลิกผันของกระแสเงินลงทุนไปสู่สาขาดิจิทัล (Digitization) เทคโนโลยีนวัตกรรม และเภสัชกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ประชุมฯ เห็นประโยชน์ของการเร่งปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่หยุดชะงักในช่วงที่มีการ lockdown ประเทศ

(4) เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสังคม และโรคระบาด COVID-19 เป็นปัจจัยที่เร่งให้สังคมเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลในทุกบริบท เช่น สถานที่ทำงาน การศึกษา การประชุม สันทนาการและการรักษาพยาบาล ซึ่งได้ปรับเข้าสู่รูปแบบออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเงินและการธนาคาร (fintech)

(5) ในปี 2563 การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงของตลาดโลกลดลงร้อยละ 6 ในขณะที่ความต้องการพลังงานงานทดแทนมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ซึ่งความต้องการพลังงานทดแทนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากหลายประเทศให้ความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเพื่อรักษาสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 เจ้าชาย Mohammed bin Salman (MbS) มกุฎราชกุมารรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีฯ ทรงกล่าวในที่ประชุม FII ว่ามีพระราชประสงค์ที่จะยกระดับกรุงริยาดให้เป็นหนึ่งในสิบเมืองที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และร่ำรวยที่สุดในโลก ซึ่งในปัจจุบันกรุงริยาด จัดอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก และเพิ่มจำนวนประชากรที่พำนักอยู่ในกรุงริยาดเป็น 15 - 20 ล้านคน ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 7.5 ล้านคน ทั้งนี้ ร้อยละ 50 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจซาอุดีฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเกิดขึ้นในกรุงริยาด และกรุงริยาดมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนในการขยายโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ ในซาอุดีฯ เนื่องจากกรุงริยาดมีการบริหารจัดการผังเมืองที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารของสมเด็จพระราชาธิบดี Salman ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการมณฑลริยาด นอกจากนี้ เจ้าชาย MbS ยังได้ทรงกล่าวถึงแผนระยะยาวของซาอุดีฯ ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในเมืองต่างๆ ของซาอุดีฯ โดยเฉพาะการปลูกต้นไม้กว่าล้านต้นตามเมืองต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิและลดฝุ่นละออง

ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 บริษัทข้ามชาติ 24 แห่ง เช่น PepsiCo (อาหารและเครื่องดื่ม) Schlumberger (ขุดเจาะน้ำมัน) Deloitte (ที่ปรึกษาด้านการเงิน) PwC (ที่ปรึกษาด้านการเงิน) Tim Hortons (ร้านกาแฟ) Bechtel (รับเหมาก่อสร้าง) Bosch (การพัฒนาและผลิตเทคโนโลยี) และ Boston Scientific (การพัฒนาและผลิตเทคโนโลยี) ได้ลงนามข้อตกลงที่จะจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในกรุงริยาด โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนของซาอุดีฯ และประธานบริหารของคณะกรรมการพัฒนากรุงริยาด (Royal Commission for Riyadh City) เป็นสักขีพยาน โดยเป็นผลมาจากการที่เจ้าชาย MbS ทรงประกาศที่จะยกระดับกรุงริยาดให้เป็นหนึ่งในสิบเมืองที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และร่ำรวยที่สุดในโลก ทั้งนี้ รัฐบาลซาอุดีฯ คาดว่านโยบายดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาก่อตั้งสำนักงานภูมิภาคในกรุงริยาดจะสร้างงานใหม่ๆ ให้กับคนซาอุดีฯ กว่า 35,000 ตำแหน่ง และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของซาอุดีฯ ผ่านการจ้างงาน การดำเนินงานและการลงทุนของบริษัทข้ามชาติดังกล่าว ประมาณ 18.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573

     

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด

ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564